วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

หลวงปู่ครูบาวงศ์ หรือ ครูบาเจ้าชัยยะวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม พระล้านนาลำพูน

ข้อมูลประวัติ หลวงปู่ครูบาวงศ์ หรือ ครูบาเจ้าชัยยะวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม พระล้านนาลำพูน
ชาติภูมิ

 ชิวิตในวัยเด็ก

           ท่านเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนาที่ยากจน  พ่อแม่ของท่านมีสมบัติติดตัวมาแค่นา ๓-๔ ไร่  ควาย ๒-๓ ตัว  ทำนาได้ข้าวปีละ ๒๐-๓๐ หาบ  ไม่พอกินเพราะต้องแบ่งไว้ทำพันธุ์ส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใส่บาตรทำบุญบูชาพระ  ส่วนที่เหลือจึงจะเก็บไว้กินเอง  ต้องอาศัยขุยไผ่ขุยหลวกมาตำเอาเม็ดมาหุงแทนข้าว  และอาศัยของในป่า  รวมทั้งมันและกลอยเพื่อประทั้งชีวิต  บางครั้งต้องอดมื้อกินมื้อก็มี  แม่ต้องไปขอญาติพี่ๆน้องๆ  เขาก็ไม่มีจะกินเหมือนกัน  แม่ต้องกลับมามือเปล่า  พร้อมน้ำตาบนใบหน้ามาถึงเรือน  ลูกๆก็ร้องไห้เพราะหิวข้าว

           แม้ว่าครอบครัวของท่านต้องดิ้นรนต่อสู้กับความอดทนอยากแต่ก็ไม่ได้ละทิ้งเรื่องการทำบุญให้ทาน  ข้าวที่แบ่งไว้ทำบุญ  แม่จะแบ่งให้ลูกทุกคนๆละปั้น  ไปใส่บาตรบูชาพระพุทธทุกวันพระ

           โยมพ่อเคยสอนว่า " ตอนนี้พ่อแม่อด  ลูกทุกคนก็อด  แต่ลูกๆทุกคนอย่าท้อแท้ใจ  ค่อยทำบุญไปเรื่อยๆ  บุญมีภายหน้าก็จะสบาย " และโยมพ่อเคยพูดกับท่านว่า

          " ลูกเอ๋ยเราทุกข์ขนาดนี้เชียวหนอ  ข้าวจะกินก็ไม่มี  ต้องกินไปอย่างนี้  ค่อยอดค่อยกลั้นไป  บุญมีก็ไม่ถึงกับอดตายหรอก  ทรมานมานานแล้ว  ถึงวันนี้ก็ยังไม่ตาย  มันจะตายก็ตาย  ไม่ตายก็แล้วไป  ให้ลูกอดทนไปนะ  ภายหน้าถ้าพ่อยังไม่ตายเสียก่อนก็ดี  ตายไปแล้วก็ดี  บางทีลูกจะได้นั่งขดถวายหงายองค์ตีน ( บวช )  กินข้าวดีๆอร่อยๆ  พ่อนี่จะอยู่ทันเห็นหรือไม่ทันก็ยังไม่รู้ "

ผู้มีความขยันและอดทน

           ในสมัยที่ท่านยังเล็กๆอายุ ๓-๔ ขวบ  ท่านมีโรคประจำตัวคือ โรคลมสันนิบาต  ลมเปี่ยวลมกัง
ต้องนั่งทุกข์อยู่เป็นวันเป็นคืน  เดินไปไกลก็ไม่ได้  วิ่งก็ไม่ได้เพราะลมเปี่ยว  ตะคริวกินขากินน่อง  เดินเร็วๆก็ไม่ได้  ต้องค่อยไปค่อยยั้ง  เวลาอยู่บ้านต้องคอยเลี้ยงน้อง  ตักน้ำติดไฟไว้คอยพ่อแม่ที่เข้าไปในป่าหาอาหาร

           ในช่วงที่ท่านมีอายุได้ ๕-๑๐ ขวบ  ท่านต้องเป็นหลักในบรรดาพี่น้องทั้งหมดที่ต้องช่วยงานพ่อแม่มากที่สุด  เวลาพ่อแม่ไปไร่ไปนาก็ไปด้วย  เวลาพ่อแม่ไปหากลอยขุดมัน  หาลูกไม้ในป่า  ท่านก็ไปช่วยขุดช่วยหาบกลับบ้าน  บางครั้งพ่อแม่หลงทางเพราะไปหากลอยตามดอยตามเนินเขา  กว่าจะหากลอยได้เต็มหาบก็ดึก  ขากลับพ่อแม่จำทางไม่ได้  ท่านก็ช่วยพาพ่อแม่กลับบ้านจนได้

           ครั้นถึงหน้าฝน  พ่อแม่ออกไปทำนา  ท่านก็ติดตามไปช่วยทุกอย่าง  พ่อปั้นคันนาท่านก็ช่วยพ่อ  พ่อไถนาท่านก็คอยจูงควายให้พ่อ  เวลาแม่ปลูกข้าวก็ช่วยแม่ปลูกจนเสร็จ

           เสร็จจากหน้าทำนา  ท่านก็จะเผาไม้ในไร่เอาขี้เถ้า  ไปขุดดินในถ้ำมาผสม  ทำดินปืนไปขาย  ได้เงินซื้อข้าวและเกลือ  บางครั้งก็ไปอยู่กับลุงน้อยเดชะรับจ้างเลี้ยงควาย  บางปีก็ได้ค่าแรงเป็นข้าว ๒-๓ หาบ  บางปีก็เพียงแต่ขอกินข้าวกับลุง  พอตุนท้องตุนไส้ไปวันๆ

           พอถึงเวลาข้าวออกรวง  นกเขาจะลงกินข้าวในนา  ท่านก็จะขอพ่อแม่ไปเฝ้าข้าวในนาตั้งแต่เช้ามืด  กว่าจะกลับก็ตะวันลับฟ้าไปแล้ว

ผู้มีความกตัญญู

           หลวงพ่อมีความกตัญญูมาตั้งแต่เด็ก  ท่านช่วยพ่อแม่ทำงานต่างๆ ทุกอย่างเท่าที่ทำได้  ตั้งแต่อายุได้ประมาณ ๕ ขวบ  ท่านก็ช่วยพ่อแม่เฝ้านา  เลี้ยงน้อง  ตลอดจนช่วยงานทุกอย่างของพ่อแม่  เมื่อเวลาที่พ่อแม่หาอาหารไม่ได้  ท่านก็จะไปรับจ้างชาวบ้านแถบบ้านก้อทำความสะอาด  หรือช่วยเฝ้าไร่นา  เพื่อแลกกับข้าวปลาอาหารมาให้พ่อแม่และน้องๆกิน

           ในบางครั้งอาหารที่ได้มาหรือที่พ่อแม่จัดหาให้ไม่เพียงพอกับคนในครอบครัว  ด้วยความที่ท่านมีนิสัยเสียสละ  และไม่ต้องการให้พ่อแม่ต้องเจียดอาหารของท่านทั้งสองซึ่งมีน้อยอยู่แล้วออกมาให้ท่านอีก  ท่านจึงได้บอกว่า " กินมาแล้ว "  เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ  แต่พอลับตาผู้อื่น  หรือเมื่อผู้อื่นในบ้านหลับกันหมดแล้ว  ท่านก็จะหลบไปดื่มน้ำ  หรือบางครั้งจะหลบไปหาใบไม้ที่พอจะกินได้มาเคี้ยวกิน  เพื่อประทังความหิวที่เกิดขึ้น  ท่านเติบโตขึ้นมาโดยพ่อแม่เลี้ยงข้าวท่านไม่ถึง ๑๐ ถัง  แต่ท่านในสมัยเป็นเด็ก  กลับหาเลี้ยงพ่อแม่มากกว่าที่พ่อแม่หาเลี้ยงท่าน

บรรพชาเป็นสามเณร
          เมื่อท่านอายุย่าง ๑๓ ปี ( พ.ศ. ๒๔๖๘ ) ด้วยผลบุญที่ท่านได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ปางก่อนในอดีตชาติ  และได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ในชาตินี้จึงดลบันดาลให้ท่านมีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตทางโลก อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา  ท่านจึงได้รบเร้าขอให้พ่อแม่ท่านไปบวช  เพื่อท่านจะได้บำเพ็ญธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อบิดามารดาได้ฟังก็เกิดความปิติยินดีเป็นยิ่งนัก

          ไม่นานหลังจากนั้นพ่อแม่ก็ได้นำท่านไปฝากกับหลวงอาท่านได้อยู่เป็นเด็กวัดกับหลวงอาได้ไม่นาน  หลวงอาจึงนำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์และบวชเณรกับครูบาชัยลังก๋า ( ซึ่งเป็นธุดงค์กรรมฐานรุ่นพี่ของครูบาศรีชัย ) ครูบาชัยลังก๋าได้ตั้งชื่อให้ท่านใหม่หลังจากเป็นสามเณรแล้วว่า " สามเณรชัยลังก๋า " เช่นเดียวกับชื่อของครูบาชัยลังก๋า

 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

          เมื่ออายุ ๒๐ ปี  ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  โดยมีครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้าเป็นอุปัชฌาย์  ได้รับฉายาว่า " ชัยยะวงศา "  ในระหว่างนั้น ท่านได้อยู่ปฏิบัติและศึกษาธรรมะกับครูบาพรหมจักร  ในบางโอกาสท่านก็จะเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปในที่ต่างๆทั้งลาวและพม่า  ท่านได้อยู่กับครูบาพรหมจักรระยะหนึ่งแล้ว  จึงได้กราบลาครูบาพรหมจักรออกจาริกธุดงค์ไปแสวงหาสัจจธรรมความหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งนี้เพียงลำพังองค์เดียวต่อ  เพื่อเผยแพร่สั่งสอนธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกชาวเขาในที่ต่างๆเช่นเคย

ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ

          เมื่อท่านได้ ๒๘ ปี  ขณะนั้นท่านได้จาริกธุดงค์สั่งสอนชาวป่าชาวเขาดอยต่างๆ  ท่านได้ทราบข่าวการมรณภาพของครูบาศรีวิชัย  จึงได้เดินทางลงจากเขาเพื่อไปนมัสการพระศพ  และช่วยจัดทำพิธีศพของครูบาศรีวิชัย  ร่วมกับครูบาขาวปีและคณะศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ที่วัดบ้านปาง  เมื่อเสร็จจากพิธีบรรจุศพครูบาศรีวิชัยแล้ว  กรมทางได้นิมนต์ให้ท่านไปช่วยสร้างเส้นทางบ้านห้วยกาน - บ้านห้วยหละ  ซึ่งในตอนนั้นท่านก็ยังห่มผ้าสีขาวอยู่  เมื่อการสร้างทางได้สำเร็จลงแล้ว  ชาวบ้านห้วยหละจึงได้มานิมนต์ท่านไปจำพรรษา  และอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทที่สำนักสงฆ์ห้วยหละ อำเภอบ้านโฮ่ง  จังหวัดลำพูน

ห่มเหลืองอีกครั้ง

        
ขณะนั้นหลวงพ่ออายุได้ ๒๘ ปี  ได้รับนิมนต์ไปอยู่ช่วยบูรณะวัดป่าพลู  และในปีนี้ท่านได้มีโอกาสห่มเหลืองเช่นพระสงฆ์ทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง  โดยมีครูบาบุญมา วัดบ้านโฮ่ง  เป็นพระอุปัชฌาย์  และได้รับฉายาใหม่ว่า " จันทวังโส "

          ในการห่มเหลืองในครั้งนี้  คณะสงฆ์ได้ออกญัตติให้ท่านต้องจำพรรษาที่วัดป่าพลูเป็นเวลา ๕ พรรษา  เมื่อออกพรรษาในแต่ละปีท่านจะเดินทางไปธุดงค์และจาริกสั่งสอนธรรมะให้กับชาวป่าชาวเขาในที่ต่างๆ เสมอเหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมาในอดีต  และบ่อยครั้งท่านจะไปช่วยครูบาขาวปีบูรณะวัดพระพุทธบาทตะเมาะ อำเภอฮอด  จังหวัดเชียงใหม่

ตรงตามคำทำนาย

          เมื่อท่านอยู่วัดป่าพลูครบ ๕ พรรษาตามบัญญัติของสงฆ์แล้ว  ในขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๓๔ ปี  นายอำเภอลี้และคณะสงฆ์ในอำเภอลี้  ได้ให้ศรัทธาญาติโยมวัดนาเลี่ยงมานิมนต์ครูบาขาวปีหรือท่านองค์ใดองค์หนึ่ง  เพื่อไปอยู่เมตตาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม  แต่ครูบาขาวปีไม่ยอมไป  และบอกว่า " ไม่ใช่หนึ่งที่ของกู " ครูบาศรีวิชัยเคยพูดไว้ว่า " วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มนั้น  มันเป็นหน้าที่ของครูบาวงศ์องค์เดียว "

          ด้วยเหตุนี้ ครูบาขาวปีจึงขอให้ท่านไปอยู่โปรดเมตตาสร้าง วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม  ซึ่งต่อมาในภายหลังจากที่ท่านได้ไปอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มแล้ว  ท่านได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็น " วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม "

          ในขณะที่ท่านอยู่ที่เมืองตื๋นนั้น  ชาวบ้านและชาวเขาต่างเรียกท่านว่า " น้อย " เมื่อท่านมาอยู่ที่วัดพระบาทห้วยต้ม  ชาวบ้านทั้งหลายจึงเชื่อกันว่า ท่านคงเป็น " พระน้อยเมืองตื๋น " ตามคำโบราณที่ได้จารึกไว้ ณ วัดพระพุทธบาทห้วย ( ข้าว ) ต้ม  เหตุการณ์นี้ก็ตรงตามคำพูดของครูบาชัยลังก๋าและครูบาศรีวิชัย  ดังที่กล่าวมาข้างต้น  เมื่อท่านย้ายมาประจำที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ท่านก็ยังออกจาริกไปสั่งสอนธรรมะแก่ชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆอยู่เสมอๆเหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมา

ผู้เฒ่าผู้รู้เหตุการณ์


          ในระยะแรกที่หลวงพ่อมาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านนาเลี่ยงได้พูดกับชาวบ้านในละแวกนั้นว่า " ต่อไปบริเวณเด่นยางมูล ( คือหมู่บ้านห้วยต้มในปัจจุบัน ) จะมีชาวกะเหรี่ยงอพยพติดตามครูบาวงศ์มาอยู่ที่นี่  จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ในอนาคต  ในครั้งนี้จะใหญ่กว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยง ๔ ยุคที่เคยอพยพมาอยู่ที่นี่ในสมัยก่อนหน้านี้ " คำพูดอันนี้ในสมัยนั้นชาวบ้านนาเลี่ยงฟังแล้วไม่ค่อยเชื่อถือกันนัก  แต่ในเวลาต่อมาไม่นาน  คำพูดอันนี้ก็เป็นความจริงทุกประการ

          หลวงพ่อได้เล่าให้คณะศิษย์ฟังเพิ่มเติมว่า คนเฒ่าผู้นี้เป็นผู้รู้เหตุการณ์ในอนาคต  และมักจะพูดได้ถูกต้องเสมอ  มีอยู่ครั้งหนึ่งหลังจากที่ท่านได้สร้างวิหารที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มเป็นรูปร่างขึ้นแล้ว  ผู้เฒ่าคนนี้ในสมัยก่อนเคยเห็นคำทำนายโบราณของวัดพระพุทธบาทห้วยต้มมาก่อน  ได้มาพูดกับท่านว่า " ท่านครูบาจะสร้างให้ใหญ่เท่าไหร่ก็สร้างได้  แต่จะสร้างใหญ่จริงอย่างไรก็ไม่สำเร็จ  ต่อไปจะมีคนๆหนึ่งมาช่วย  ถ้าคนนี้มาแล้วจะสำเร็จได้ "


ชาวเขาอพยพตามมา
       

 เมื่อท่านอยู่ที่วัดห้วยต้มได้ไม่นาน  คำพูดของผู้เฒ่าคนนี้ก็เป็นความจริง  เพราะชาวเขาจากที่ต่างๆที่ท่านได้อบรมสั่งสอนมา  ได้อพยพย้ายถิ่นฐานติดตามมาอยู่กับท่านเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน  เพื่อมาขอพึ่งใบบุญและปฏิบัติธรรมะกับท่าน

          ในระยะแรกๆ นั้น ท่านได้ตั้งกฎให้กับพวกกะเหรี่ยงที่มาอยู่กับท่านว่า พวกเขาจะต้องนำมีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาถวายวัด  และให้สาบานกับท่านว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและจะกินมังสวิรัติตลอดไป  ท่านได้เมตตาให้เหตุผลว่า ท่านต้องการให้เขาเป็นคนดี  ลดการเบียดเบียน  มีศีลธรรม  หมู่บ้านห้วยต้มจะได้มีแต่ความสงบสุขทั้งทางโลกและทางธรรม  และจะได้ไม่เป็นปัญหาของประเทศชาติต่อไป  ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านห้วยต้มนี้มีความเป็นอยู่ที่เป็นระเบียบและมีความสงบสุข  ตามที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนมา  ทั้งที่ในหมู่บ้านนี้มีกะเหรี่ยงอยู่หลายพันคน

          แต่ในสมัยนี้ กฎและระเบียบที่ชาวกะเหรี่ยงที่จะย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยต้มที่จะต้องนำมีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาสาบานกับหลวงพ่อนั้นได้ยกเลิกไปโดยปริยาย  เพราะหลวงพ่อเห็นว่า ทางราชการได้ส่งหน่วยงานต่างๆเข้ามาจัดการดูแลช่วยเหลือ  และให้การศึกษาแก่พวกเขา  คงจะช่วยพวกเขาให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น  และมีความสงบสุขเป็นระเบียบเหมือนที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมา

นามเดิม วงศ์หรือชัยวงศ์  นามสกุล ต๊ะแหนม  เกิดที่ ตำบลหันก้อ อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน  เกิดเมื่อ วันอังคาร เดือน ๗ ( เหนือ ) แรม ๒ ค่ำ  ปีฉลู  ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖  เวลา ๒๔.๑๕ นาฬิกา  มีพี่น้องรวม ๙ คน  ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น