วันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ประวัติ ครูบาพรหมา วัดพระบาทตากผ้า และเหรียญ รุ่น 1 พระล้านนา

ประวัติ ครูบาพรหมา วัดพระบาทตากผ้า พระล้านนา
ครูบาพรหมา พรหมจักโก กำเนิด 30 สิงหาคม พศ. 2441 ที่บ้านป่าแพ่ง อ.ป่าซาง จ. ลำพูน
อุปสมบท ทีวัด ป่าเหียง ป่าซาง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2461 สมณศักดิ์ สุดท้ายคือ พระสุพรหมยานเถร
มรณภาพเมื่อ 17 สค. 2527 รวมสิริอายุ 87 ปี 67 พรรษา
คุณความดีของท่าน บวช สามเณรได้ 15 ปี และอุสมบท เมื่อได้ 20 ปี เริ่มเข้าวิถีแห่งการปฎบัติธรรม อย่างเอาจริงเอาจัง ท่านได้ออกธุดงค์ไปตามป่าเขาต่างๆ ทั่วประเทศไทย พม่า ลาว กระทั่ง พศ..2491 ท่างได้จำพรรษา ณ วัดพระพุทธบาทตากผ้าป่าซาง และได้พัฒนาวัด จนมีชื่อเสียง เป็นสถานสถาน ที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งในเมืองล้านนา ลำพูน ท่านได้รับความเลื่อมใสเป็นอย่างมากในจ .ลำพูน และได้สั่งสมบารมี คุณงามความดี แม้ท่านจะได้รับลาภสักระมาก แต่ก็ไม่ได้สะสมถือทรัพย์ ส่วนตนแม่แต่น้อย ในทางตรงกันข้ามลับมอบให้การสาธรณะการกุศล ทั้หมด

เหรียญครูบาพรหมจักร รุ่นแรก ปี2500 กะไหล่ทอง สถาพสวยๆแบบนี้แทบไม่มีลงหมุนเวียน
เหรียญรุ่นแรก ครูบาพรหมา (พรหมจักรโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ. ลำพูนจัดสร้างปี พ.ศ.2500 มีเฉพาะเนื้อฝาบาตรกะหลั่ยทอง


วันอังคารที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

ครูบาพรหมา พระล้านนาลำพูน


เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์แก่ผู้ได้สมาธิจิตกันทั่วไปว่า อัน "จิตหนึ่ง" ของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรนั้น นอกจากจะมีพลานุภาพอันแรงกล้าอย่างมหาศาลแล้ว ก็ยังมีความเยือกเย็นอย่างยิ่งยวดแฝงอยู่ภายในอย่างท่วมท้นอีกด้วย

ความเย็นของจิตหลวงปู่สิมนั้น ช่างเย็นฉ่ำเสียยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด

เย็นจนไม่รู้จะเปรียบเทียบกับอะไรดี

เย็นเสียจนแม้ไฟที่กำลังร้อนๆ ตกลงมา ก็แทบจะถูกความเย็นของท่าน "แช่แข็งคาที่" จนกลายเป็นไฟเย็นก็เปรียบได้.!!!!

ก็ใครที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่หลวงปู่ท่านโดน "ใครบางคน" กล่าววาจาล่วงเกินกลางถ้ำผาปล่องต่อหน้าธารกำนัล อันมีคณะสงฆ์และอุบาสกอุบาสิกาจำนวนมากอย่างไม่ไว้หน้า แต่ท่านกลับ "สงบเย็น" อยู่ได้เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พลางแก้สถานการณ์ด้วยความใจเย็นจนถึงที่สุด โดยไม่ปรากฏอาการของโทสะความโกรธให้พบเห็นเลยแม้แต่เพียงน้อยเดียว ก็จะ "รู้ดี" ถึงแก่นแกนใจว่า อันหลวงปู่สิมนั้น ท่าน "นิพพุติ" อย่างสิ้นเชิงถึงเพียงไหน..???

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงแท้แน่นอนที่สุด ที่ "พุทธวงศ์" อยู่และประสพอยู่ในเหตุการณ์มาด้วยตนเอง ทำให้ซาบซึ้งถึงใจอย่างที่สุดพลางอุทานขึ้นมาในใจว่า

"นี่แหละ ท่านผู้สิ้นตัณหาแล้ว ท่านผู้สิ้นความโกรธแล้ว ย่อมเป็นดังนี้นี่แล..!!!!"

หรือแม้แต่ขณะที่หลวงปู่สิมท่านนั่งประธานปรก "พระพุทธสุริโยทัยสิริกิติฑีฆายุมงคล" ในพระอุโบสถ วัดพระแก้วเมื่อปีพ.ศ. 2534 นั้น คุณนัดดา เศรษฐบุตร เพื่อนรุ่นพี่ ศิษย์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหารก็ได้ไปร่วมพิธีด้วย จนเมื่อได้กราบหลวงปู่สิมที่ธรรมาสน์ปรกเอก ก็มีเหตุให้สัมผัสได้ถึงความเย็นที่ยิ่งใหญ่ของหลวงปู่สิม ที่แผ่ซ่านออกมาจนถึงกับต้องร้องออกมาในทันทีทีเดียวว่า

"โอ้..เต็มๆ เลย เย็นไปหมดเลย..!!!???"

ก็เพราะความที่หลวงปู่ท่านเย็นสนิท เพราะดับไฟคือราคะ โทสะ โมหะออกจากจิตได้หมดสิ้นดังนี้  บางท่านถึงขนานนามให้ท่านด้วยสมัญญาพิเศษ ด้วยความเลื่อมใสเอาเสียทีเดียวว่า

"พระน้ำแข็ง.!!??!!"

ซึ่งเรื่อง "พระน้ำแข็ง" นี้  "พุทธวงศ์" ไม่เคยนำไปเล่าให้หลวงปู่สิมฟังเลยแม้เพียงครั้งเดียว

เพราะอยู่กับ "พระอริยเจ้าชั้นสูง" ขนาดนี้  การจะพูดจะคิดจะทำอะไร  ก็ต้องพิจารณาให้รอบคอบระแวดระวังไปทุกกระดิกที่สุด เพื่อมิให้เกิดเป็นบาปเป็นกรรมในทุกแง่มุมก่อนเสมอ

ก็การอยู่กับพระอริยเจ้านั้น "บุญ" แม้มีมาก แต่ "บาป" ก็จะมากตามไปด้วย (หากทำ, พูด, คิด ผิด)เช่นกัน

และเหตุที่หลวงปู่สิมท่านมีความเป็น "ผู้ดี" (มารยาทแบบกษัตริย์อย่างพระพุทธเจ้า-สำนวนเจ้าคุณนรรัตน์ฯ) ในเนื้อหาถึงขนาดนั้น  อีกสิ่งที่คนวงในจะเกรงกลัวกันมากก็คือ หากทำผิดท่าผิดทางแล้ว ก็อาจจะถูกหลวงปู่ท่านมองด้วยหางตาพลาง "ย้อน" กลับมาเพียงคำครึ่งคำแบบ "เชือดนิ่มๆ" (แต่กรีดลึกอย่างสุดๆ) ตามสไตล์ผู้ดีของท่าน ก็มีสิทธิ์ที่จะ "เสียศูนย์" บาดเจ็บสาหัสเจียนตายแทบจะดับดิ้นสิ้นชีวิตเอาได้ง่ายๆ..!!!!

ไม่รู้เหมือนกันว่า คนสมัยนี้จะมีวาสนาได้สัมผัสหรือเข้าใจใน "สภาวะอารมณ์เบื้องสูง" แบบ "ผู้ดีๆ" นี้บ้างหรือไม่..????

บอกได้แต่เพียงว่า  ยามใดที่ "พุทธวงศ์" เข้าไปกราบไหว้หลวงปู่สิมนั้น ก็ต้องทำบีบต้วตนกายใจให้เล็กลีบต่ำเตี้ยติดดิน เรียบร้อยมากที่สุด ไม่ต่างอะไรกับการ "เข้าเจ้าเข้านาย" เลยแม้แต่เพียงน้อยเดียว

แต่แล้วอยู่มาวันหนึ่ง ขณะที่ "พุทธวงศ์" กำลังนั่งอยู่ต่อหน้าหลวงปู่สิมที่บ้านกรุงเทพภาวนาอยู่นั่นเอง  เหมือนหลวงปู่สิมท่านจะ "สแกน(พฤติ)กรรม" ของ "พุทธวงศ์" จนล่วงรู้ที่มาที่ไปจนหมดสิ้น ว่าไปพูดไปคิด ไปทำ ไปฟัง อะไรที่ไหนกับใครมา  หลวงปู่ท่านจึงได้ "ย้อนศร" เปรี้ยงออกมาแบบ ชนิดไม่มีมโหรีปี่กลองมโหระทึกสังข์แตรดุริยางค์โหมโรงประโคมให้รู้เนื้อรู้ตัวก่อนเลยแม้แต่เพียงนิด ทำเอา "พุทธวงศ์" แทบจะผงะหงายหลังออกมาไม่ทันเลยทีเดียวว่า

"ครูบาพรหมจักรน่ะ เย็นยิ่งกว่าน้ำแข็งอีกน๊ะ..!!!???!!!"

เมื่อได้ฟัง "พุทธวงศ์" ก็แทบสะดุ้งเฮือก..!!!!!

"โดน" เข้าให้แล้ว....

"เต็มๆ จะๆ" เลย.......

หลวงปู่รู้เรื่อง "น้ำแข็ง" ได้อย่างไร..????

ภาพไฟที่โชนไหม้เมรุและสรีระของครูบาพรหมจักร วันพระราชทานเพลิง อันได้ก่อตัวเป็นรูป "พระนั่งสมาธิกลางกองกูณฑ์" อย่างน่าตื่นใจยิ่งนี้ ซึ่ง "พุทธวงศ์" ถ่ายไว้ได้ด้วยตนเอง (ก่อนขึ้นไปถ่ายรูปพระธาตุ 4 ครูบา ซึ่งได้นำมาเป็นแบบต้นร่างของ "พระสุธรรมเจดีย์" ในกาลต่อมา) ก็เพิ่งจะนำมาเปิดเผยแสดงเป็นการสาธารณะให้โอกาสนี้อีกเช่นเดียวกัน

หมายเหตุ : เรื่อง "เย็นกว่าน้ำแข็ง" ที่แม้จะเป็นเรื่องประสบการณ์อภินิหารแห่งอภิญญาญาณของหลวงปู่สิม พุทฺธาจาโรเกือบตลอด แต่ก็เกี่ยวเนื่องเป็นเชิงยกย่อง ในอัจฉริยคุณอันยอดเยี่ยม ของครูบาพรหมจักร ที่หลวงปู่สิมท่านพูดกับปากของท่านเองดังนี้  เป็นเรื่องที่ "พุทธวงศ์" ไม่เคยเปิดเผยในสื่อที่ไหนมาก่อน

คงเก็บงำเงียบๆ มาเนิ่นนานถึงกว่า 17 ปีเต็มๆ

เพิ่งจะนำมาแสดงเป็นวาระแรกสุดให้ปรากฏต่างเครื่องสักการบูชาไหว้สาถวายแด่ "หลวงพ่อพระพุทธบาทตากผ้า" เนื่องในวันคล้ายวันมรณภาพของ (17 สิงหาคม) นี้เป็นกรณีพิเศษโดยเฉพาะเท่านั้น

ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัย อันมีพระพุทธ พระธรรม พระอริยสงฆ์เป็นที่ตั้ง จงดลบันดาลให้ชื่อเสียงเกียรติคุณและคุณธรรมสัมมาปฏิบัติอันไม่มีใดเทียบได้ของพระสุพรหมยานเถร (พรหมา พรหมจักโก) วัดพระพุทธบาทตากผ้า ต.มะกอก อ.ป่าซาง จ.ลำพูน จงบันลือลั่นภิญโญยิ่งๆ ขึ้นไปตามกาลเวลาที่ผ่านพ้น และสถิตสถาพรอยู่คู่กับแผ่นดินแผ่นฟ้า เป็นมหาสิริมงคลอันยิ่งแก่ชาติบ้านเมืองและโลกทั้งสิ้นสืบต่อไปมิรู้สิ้นสูญเที่ยงแท้ด้วยเทอญฯ

จดหมายเหตุ ครูบาพรหมจักร วัดพระพุทธบาทตากผ้า
จากเวบ phuttawong.net >> จดหมายเหตุพุทธวงศ์ 
โพสท์โดย เนาวสถิตย์ เมื่อ: 17 สิงหาคม 2552 

วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2563

หลวงปู่ครูบาวงศ์ หรือ ครูบาเจ้าชัยยะวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม พระล้านนาลำพูน

ข้อมูลประวัติ หลวงปู่ครูบาวงศ์ หรือ ครูบาเจ้าชัยยะวงศา วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม พระล้านนาลำพูน
ชาติภูมิ

 ชิวิตในวัยเด็ก

           ท่านเกิดในตระกูลชาวไร่ชาวนาที่ยากจน  พ่อแม่ของท่านมีสมบัติติดตัวมาแค่นา ๓-๔ ไร่  ควาย ๒-๓ ตัว  ทำนาได้ข้าวปีละ ๒๐-๓๐ หาบ  ไม่พอกินเพราะต้องแบ่งไว้ทำพันธุ์ส่วนหนึ่ง  อีกส่วนหนึ่งเอาไว้ใส่บาตรทำบุญบูชาพระ  ส่วนที่เหลือจึงจะเก็บไว้กินเอง  ต้องอาศัยขุยไผ่ขุยหลวกมาตำเอาเม็ดมาหุงแทนข้าว  และอาศัยของในป่า  รวมทั้งมันและกลอยเพื่อประทั้งชีวิต  บางครั้งต้องอดมื้อกินมื้อก็มี  แม่ต้องไปขอญาติพี่ๆน้องๆ  เขาก็ไม่มีจะกินเหมือนกัน  แม่ต้องกลับมามือเปล่า  พร้อมน้ำตาบนใบหน้ามาถึงเรือน  ลูกๆก็ร้องไห้เพราะหิวข้าว

           แม้ว่าครอบครัวของท่านต้องดิ้นรนต่อสู้กับความอดทนอยากแต่ก็ไม่ได้ละทิ้งเรื่องการทำบุญให้ทาน  ข้าวที่แบ่งไว้ทำบุญ  แม่จะแบ่งให้ลูกทุกคนๆละปั้น  ไปใส่บาตรบูชาพระพุทธทุกวันพระ

           โยมพ่อเคยสอนว่า " ตอนนี้พ่อแม่อด  ลูกทุกคนก็อด  แต่ลูกๆทุกคนอย่าท้อแท้ใจ  ค่อยทำบุญไปเรื่อยๆ  บุญมีภายหน้าก็จะสบาย " และโยมพ่อเคยพูดกับท่านว่า

          " ลูกเอ๋ยเราทุกข์ขนาดนี้เชียวหนอ  ข้าวจะกินก็ไม่มี  ต้องกินไปอย่างนี้  ค่อยอดค่อยกลั้นไป  บุญมีก็ไม่ถึงกับอดตายหรอก  ทรมานมานานแล้ว  ถึงวันนี้ก็ยังไม่ตาย  มันจะตายก็ตาย  ไม่ตายก็แล้วไป  ให้ลูกอดทนไปนะ  ภายหน้าถ้าพ่อยังไม่ตายเสียก่อนก็ดี  ตายไปแล้วก็ดี  บางทีลูกจะได้นั่งขดถวายหงายองค์ตีน ( บวช )  กินข้าวดีๆอร่อยๆ  พ่อนี่จะอยู่ทันเห็นหรือไม่ทันก็ยังไม่รู้ "

ผู้มีความขยันและอดทน

           ในสมัยที่ท่านยังเล็กๆอายุ ๓-๔ ขวบ  ท่านมีโรคประจำตัวคือ โรคลมสันนิบาต  ลมเปี่ยวลมกัง
ต้องนั่งทุกข์อยู่เป็นวันเป็นคืน  เดินไปไกลก็ไม่ได้  วิ่งก็ไม่ได้เพราะลมเปี่ยว  ตะคริวกินขากินน่อง  เดินเร็วๆก็ไม่ได้  ต้องค่อยไปค่อยยั้ง  เวลาอยู่บ้านต้องคอยเลี้ยงน้อง  ตักน้ำติดไฟไว้คอยพ่อแม่ที่เข้าไปในป่าหาอาหาร

           ในช่วงที่ท่านมีอายุได้ ๕-๑๐ ขวบ  ท่านต้องเป็นหลักในบรรดาพี่น้องทั้งหมดที่ต้องช่วยงานพ่อแม่มากที่สุด  เวลาพ่อแม่ไปไร่ไปนาก็ไปด้วย  เวลาพ่อแม่ไปหากลอยขุดมัน  หาลูกไม้ในป่า  ท่านก็ไปช่วยขุดช่วยหาบกลับบ้าน  บางครั้งพ่อแม่หลงทางเพราะไปหากลอยตามดอยตามเนินเขา  กว่าจะหากลอยได้เต็มหาบก็ดึก  ขากลับพ่อแม่จำทางไม่ได้  ท่านก็ช่วยพาพ่อแม่กลับบ้านจนได้

           ครั้นถึงหน้าฝน  พ่อแม่ออกไปทำนา  ท่านก็ติดตามไปช่วยทุกอย่าง  พ่อปั้นคันนาท่านก็ช่วยพ่อ  พ่อไถนาท่านก็คอยจูงควายให้พ่อ  เวลาแม่ปลูกข้าวก็ช่วยแม่ปลูกจนเสร็จ

           เสร็จจากหน้าทำนา  ท่านก็จะเผาไม้ในไร่เอาขี้เถ้า  ไปขุดดินในถ้ำมาผสม  ทำดินปืนไปขาย  ได้เงินซื้อข้าวและเกลือ  บางครั้งก็ไปอยู่กับลุงน้อยเดชะรับจ้างเลี้ยงควาย  บางปีก็ได้ค่าแรงเป็นข้าว ๒-๓ หาบ  บางปีก็เพียงแต่ขอกินข้าวกับลุง  พอตุนท้องตุนไส้ไปวันๆ

           พอถึงเวลาข้าวออกรวง  นกเขาจะลงกินข้าวในนา  ท่านก็จะขอพ่อแม่ไปเฝ้าข้าวในนาตั้งแต่เช้ามืด  กว่าจะกลับก็ตะวันลับฟ้าไปแล้ว

ผู้มีความกตัญญู

           หลวงพ่อมีความกตัญญูมาตั้งแต่เด็ก  ท่านช่วยพ่อแม่ทำงานต่างๆ ทุกอย่างเท่าที่ทำได้  ตั้งแต่อายุได้ประมาณ ๕ ขวบ  ท่านก็ช่วยพ่อแม่เฝ้านา  เลี้ยงน้อง  ตลอดจนช่วยงานทุกอย่างของพ่อแม่  เมื่อเวลาที่พ่อแม่หาอาหารไม่ได้  ท่านก็จะไปรับจ้างชาวบ้านแถบบ้านก้อทำความสะอาด  หรือช่วยเฝ้าไร่นา  เพื่อแลกกับข้าวปลาอาหารมาให้พ่อแม่และน้องๆกิน

           ในบางครั้งอาหารที่ได้มาหรือที่พ่อแม่จัดหาให้ไม่เพียงพอกับคนในครอบครัว  ด้วยความที่ท่านมีนิสัยเสียสละ  และไม่ต้องการให้พ่อแม่ต้องเจียดอาหารของท่านทั้งสองซึ่งมีน้อยอยู่แล้วออกมาให้ท่านอีก  ท่านจึงได้บอกว่า " กินมาแล้ว "  เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ  แต่พอลับตาผู้อื่น  หรือเมื่อผู้อื่นในบ้านหลับกันหมดแล้ว  ท่านก็จะหลบไปดื่มน้ำ  หรือบางครั้งจะหลบไปหาใบไม้ที่พอจะกินได้มาเคี้ยวกิน  เพื่อประทังความหิวที่เกิดขึ้น  ท่านเติบโตขึ้นมาโดยพ่อแม่เลี้ยงข้าวท่านไม่ถึง ๑๐ ถัง  แต่ท่านในสมัยเป็นเด็ก  กลับหาเลี้ยงพ่อแม่มากกว่าที่พ่อแม่หาเลี้ยงท่าน

บรรพชาเป็นสามเณร
          เมื่อท่านอายุย่าง ๑๓ ปี ( พ.ศ. ๒๔๖๘ ) ด้วยผลบุญที่ท่านได้บำเพ็ญมาตั้งแต่ปางก่อนในอดีตชาติ  และได้รับการอบรมสั่งสอนจากพระสงฆ์ครูบาอาจารย์ในชาตินี้จึงดลบันดาลให้ท่านมีความเบื่อหน่ายต่อชีวิตทางโลก อันเป็นทุกขัง อนิจจัง อนัตตา  ท่านจึงได้รบเร้าขอให้พ่อแม่ท่านไปบวช  เพื่อท่านจะได้บำเพ็ญธรรมะขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  เมื่อบิดามารดาได้ฟังก็เกิดความปิติยินดีเป็นยิ่งนัก

          ไม่นานหลังจากนั้นพ่อแม่ก็ได้นำท่านไปฝากกับหลวงอาท่านได้อยู่เป็นเด็กวัดกับหลวงอาได้ไม่นาน  หลวงอาจึงนำท่านไปฝากตัวเป็นศิษย์และบวชเณรกับครูบาชัยลังก๋า ( ซึ่งเป็นธุดงค์กรรมฐานรุ่นพี่ของครูบาศรีชัย ) ครูบาชัยลังก๋าได้ตั้งชื่อให้ท่านใหม่หลังจากเป็นสามเณรแล้วว่า " สามเณรชัยลังก๋า " เช่นเดียวกับชื่อของครูบาชัยลังก๋า

 อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

          เมื่ออายุ ๒๐ ปี  ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ  โดยมีครูบาพรหมจักร วัดพระบาทตากผ้าเป็นอุปัชฌาย์  ได้รับฉายาว่า " ชัยยะวงศา "  ในระหว่างนั้น ท่านได้อยู่ปฏิบัติและศึกษาธรรมะกับครูบาพรหมจักร  ในบางโอกาสท่านก็จะเดินธุดงค์ปฏิบัติธรรมไปในที่ต่างๆทั้งลาวและพม่า  ท่านได้อยู่กับครูบาพรหมจักรระยะหนึ่งแล้ว  จึงได้กราบลาครูบาพรหมจักรออกจาริกธุดงค์ไปแสวงหาสัจจธรรมความหลุดพ้นจากวัฏสงสารแห่งนี้เพียงลำพังองค์เดียวต่อ  เพื่อเผยแพร่สั่งสอนธรรมะขององค์สมเด็จ-พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้กับพวกชาวเขาในที่ต่างๆเช่นเคย

ครูบาศรีวิชัยมรณภาพ

          เมื่อท่านได้ ๒๘ ปี  ขณะนั้นท่านได้จาริกธุดงค์สั่งสอนชาวป่าชาวเขาดอยต่างๆ  ท่านได้ทราบข่าวการมรณภาพของครูบาศรีวิชัย  จึงได้เดินทางลงจากเขาเพื่อไปนมัสการพระศพ  และช่วยจัดทำพิธีศพของครูบาศรีวิชัย  ร่วมกับครูบาขาวปีและคณะศิษย์ของครูบาศรีวิชัย ที่วัดบ้านปาง  เมื่อเสร็จจากพิธีบรรจุศพครูบาศรีวิชัยแล้ว  กรมทางได้นิมนต์ให้ท่านไปช่วยสร้างเส้นทางบ้านห้วยกาน - บ้านห้วยหละ  ซึ่งในตอนนั้นท่านก็ยังห่มผ้าสีขาวอยู่  เมื่อการสร้างทางได้สำเร็จลงแล้ว  ชาวบ้านห้วยหละจึงได้มานิมนต์ท่านไปจำพรรษา  และอบรมสั่งสอนพุทธบริษัทที่สำนักสงฆ์ห้วยหละ อำเภอบ้านโฮ่ง  จังหวัดลำพูน

ห่มเหลืองอีกครั้ง

        
ขณะนั้นหลวงพ่ออายุได้ ๒๘ ปี  ได้รับนิมนต์ไปอยู่ช่วยบูรณะวัดป่าพลู  และในปีนี้ท่านได้มีโอกาสห่มเหลืองเช่นพระสงฆ์ทั่วไปอีกครั้งหนึ่ง  โดยมีครูบาบุญมา วัดบ้านโฮ่ง  เป็นพระอุปัชฌาย์  และได้รับฉายาใหม่ว่า " จันทวังโส "

          ในการห่มเหลืองในครั้งนี้  คณะสงฆ์ได้ออกญัตติให้ท่านต้องจำพรรษาที่วัดป่าพลูเป็นเวลา ๕ พรรษา  เมื่อออกพรรษาในแต่ละปีท่านจะเดินทางไปธุดงค์และจาริกสั่งสอนธรรมะให้กับชาวป่าชาวเขาในที่ต่างๆ เสมอเหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมาในอดีต  และบ่อยครั้งท่านจะไปช่วยครูบาขาวปีบูรณะวัดพระพุทธบาทตะเมาะ อำเภอฮอด  จังหวัดเชียงใหม่

ตรงตามคำทำนาย

          เมื่อท่านอยู่วัดป่าพลูครบ ๕ พรรษาตามบัญญัติของสงฆ์แล้ว  ในขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๓๔ ปี  นายอำเภอลี้และคณะสงฆ์ในอำเภอลี้  ได้ให้ศรัทธาญาติโยมวัดนาเลี่ยงมานิมนต์ครูบาขาวปีหรือท่านองค์ใดองค์หนึ่ง  เพื่อไปอยู่เมตตาบูรณะวัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม  แต่ครูบาขาวปีไม่ยอมไป  และบอกว่า " ไม่ใช่หนึ่งที่ของกู " ครูบาศรีวิชัยเคยพูดไว้ว่า " วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มนั้น  มันเป็นหน้าที่ของครูบาวงศ์องค์เดียว "

          ด้วยเหตุนี้ ครูบาขาวปีจึงขอให้ท่านไปอยู่โปรดเมตตาสร้าง วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้ม  ซึ่งต่อมาในภายหลังจากที่ท่านได้ไปอยู่ที่วัดพระพุทธบาทห้วยข้าวต้มแล้ว  ท่านได้เปลี่ยนชื่อให้สั้นลงเป็น " วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม "

          ในขณะที่ท่านอยู่ที่เมืองตื๋นนั้น  ชาวบ้านและชาวเขาต่างเรียกท่านว่า " น้อย " เมื่อท่านมาอยู่ที่วัดพระบาทห้วยต้ม  ชาวบ้านทั้งหลายจึงเชื่อกันว่า ท่านคงเป็น " พระน้อยเมืองตื๋น " ตามคำโบราณที่ได้จารึกไว้ ณ วัดพระพุทธบาทห้วย ( ข้าว ) ต้ม  เหตุการณ์นี้ก็ตรงตามคำพูดของครูบาชัยลังก๋าและครูบาศรีวิชัย  ดังที่กล่าวมาข้างต้น  เมื่อท่านย้ายมาประจำที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ท่านก็ยังออกจาริกไปสั่งสอนธรรมะแก่ชาวบ้านและชาวเขาในที่ต่างๆอยู่เสมอๆเหมือนที่ท่านเคยปฏิบัติมา

ผู้เฒ่าผู้รู้เหตุการณ์


          ในระยะแรกที่หลวงพ่อมาที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้ม  ผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านนาเลี่ยงได้พูดกับชาวบ้านในละแวกนั้นว่า " ต่อไปบริเวณเด่นยางมูล ( คือหมู่บ้านห้วยต้มในปัจจุบัน ) จะมีชาวกะเหรี่ยงอพยพติดตามครูบาวงศ์มาอยู่ที่นี่  จนเป็นหมู่บ้านใหญ่ในอนาคต  ในครั้งนี้จะใหญ่กว่าหมู่บ้านกะเหรี่ยง ๔ ยุคที่เคยอพยพมาอยู่ที่นี่ในสมัยก่อนหน้านี้ " คำพูดอันนี้ในสมัยนั้นชาวบ้านนาเลี่ยงฟังแล้วไม่ค่อยเชื่อถือกันนัก  แต่ในเวลาต่อมาไม่นาน  คำพูดอันนี้ก็เป็นความจริงทุกประการ

          หลวงพ่อได้เล่าให้คณะศิษย์ฟังเพิ่มเติมว่า คนเฒ่าผู้นี้เป็นผู้รู้เหตุการณ์ในอนาคต  และมักจะพูดได้ถูกต้องเสมอ  มีอยู่ครั้งหนึ่งหลังจากที่ท่านได้สร้างวิหารที่วัดพระพุทธบาทห้วยต้มเป็นรูปร่างขึ้นแล้ว  ผู้เฒ่าคนนี้ในสมัยก่อนเคยเห็นคำทำนายโบราณของวัดพระพุทธบาทห้วยต้มมาก่อน  ได้มาพูดกับท่านว่า " ท่านครูบาจะสร้างให้ใหญ่เท่าไหร่ก็สร้างได้  แต่จะสร้างใหญ่จริงอย่างไรก็ไม่สำเร็จ  ต่อไปจะมีคนๆหนึ่งมาช่วย  ถ้าคนนี้มาแล้วจะสำเร็จได้ "


ชาวเขาอพยพตามมา
       

 เมื่อท่านอยู่ที่วัดห้วยต้มได้ไม่นาน  คำพูดของผู้เฒ่าคนนี้ก็เป็นความจริง  เพราะชาวเขาจากที่ต่างๆที่ท่านได้อบรมสั่งสอนมา  ได้อพยพย้ายถิ่นฐานติดตามมาอยู่กับท่านเรื่อยๆจนถึงปัจจุบัน  เพื่อมาขอพึ่งใบบุญและปฏิบัติธรรมะกับท่าน

          ในระยะแรกๆ นั้น ท่านได้ตั้งกฎให้กับพวกกะเหรี่ยงที่มาอยู่กับท่านว่า พวกเขาจะต้องนำมีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาถวายวัด  และให้สาบานกับท่านว่า จะไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและจะกินมังสวิรัติตลอดไป  ท่านได้เมตตาให้เหตุผลว่า ท่านต้องการให้เขาเป็นคนดี  ลดการเบียดเบียน  มีศีลธรรม  หมู่บ้านห้วยต้มจะได้มีแต่ความสงบสุขทั้งทางโลกและทางธรรม  และจะได้ไม่เป็นปัญหาของประเทศชาติต่อไป  ดังที่เราจะเห็นได้จากการที่ชาวกะเหรี่ยงในหมู่บ้านห้วยต้มนี้มีความเป็นอยู่ที่เป็นระเบียบและมีความสงบสุข  ตามที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนมา  ทั้งที่ในหมู่บ้านนี้มีกะเหรี่ยงอยู่หลายพันคน

          แต่ในสมัยนี้ กฎและระเบียบที่ชาวกะเหรี่ยงที่จะย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านห้วยต้มที่จะต้องนำมีดไม้ที่เคยฆ่าสัตว์มาสาบานกับหลวงพ่อนั้นได้ยกเลิกไปโดยปริยาย  เพราะหลวงพ่อเห็นว่า ทางราชการได้ส่งหน่วยงานต่างๆเข้ามาจัดการดูแลช่วยเหลือ  และให้การศึกษาแก่พวกเขา  คงจะช่วยพวกเขาให้มีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น  และมีความสงบสุขเป็นระเบียบเหมือนที่ท่านเคยอบรมสั่งสอนมา

นามเดิม วงศ์หรือชัยวงศ์  นามสกุล ต๊ะแหนม  เกิดที่ ตำบลหันก้อ อำเภอลี้  จังหวัดลำพูน  เกิดเมื่อ วันอังคาร เดือน ๗ ( เหนือ ) แรม ๒ ค่ำ  ปีฉลู  ตรงกับวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๔๕๖  เวลา ๒๔.๑๕ นาฬิกา  มีพี่น้องรวม ๙ คน  ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓